PM มือใหม่ EP.2 — How to say goodbye to your product? แชร์ประสบการณ์บอกลาโพรดักต์ที่ปั้นมาเองกับมือ
EP ที่แล้วเพิ่งจะชวนเริ่มต้นการสร้าง Business & Product ใหม่ไปเอง ทำไมมาถึงก็จะบอกลาซะแล้วล่ะ [สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่าน จิ้มตรงนี้ครับ]
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเลยทีเดียวและค่อนข้างจะสดๆ ร้อนๆ เลยขอข้ามช็อตมาเล่าให้ฟังเลยละกัน
ความสัมพันธ์ระหว่าง Product และ Product Manager
ถ้าถามว่าโพรดักต์สำคัญกับ product manager (PM) คนหนึ่งขนาดไหน ก็แทบจะเรียกได้ว่า “รักเหมือนลูก” เลยล่ะ ด้วยเนื้องานที่ต้องการ ownership ค่อนข้างสูง ทำให้ยิ่งนานเท่าไหร่ เหล่า PM ก็ยิ่งผูกพันกับโพรดักต์ตัวเองมากขึ้นเท่านั้น
แต่ชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป….. โพรดักต์ที่ประสบความสำเร็จมากๆ ในปัจจุบันนั้นมีอยู่น้อยนิด เมื่อเทียบกับโพรดักต์ที่ไม่สำเร็จและพับไปเสียก่อน
แล้วถ้าโพรดักต์ที่ไม่สำเร็จนั้นดันเป็นของเราขึ้นมาล่ะ
เราจะรู้ได้ยังไงว่าเมื่อไหร่เราควรต้องตัดสินใจ และการวางแผนต่อจากนั้นควรทำอะไรบ้าง
ว่าด้วยเรื่องการจัดลำดับความสำคัญ
ในโลกของ product management เราถูกสอนมาให้จัดลำดับความสำคัญ สิ่งที่เราต้องทำเสมอบนพื้นฐานของสองสิ่งหลักๆ คือ
- Impact: ผลกระทบต่อลูกค้าเมื่อสร้างสิ่งนั้น เราได้ช่วยแก้ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอยู่หรือเปล่า เกิดเป็นคุณค่า (Value) ของโพรดักต์เรา
- Effort: ทรัพยากรที่เราต้องใส่ลงไปเพื่อสร้างสิ่งนั้น รวมทุกอย่างตั้งแต่แรงคน, แรงเงิน, เวลา และอื่นๆ
ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพง่ายขึ้น สมมติว่าปัจจุบัน โพรดักต์เรามี 1 Business Model ที่โพรดักต์ประกอบไปด้วย โดเมน A และ โดเมน B (Domain) ซึ่งทั้ง 2 โดเมนทำงานร่วมกันเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมีความสุข แบบภาพ 1
ต่อมาทีมโพรดักต์ได้ลองสำรวจหาโอกาสใหม่ๆ ทั้งจากที่คิดขึ้นมาเอง จากลูกค้า จาก Management มีไอเดียมา หรือแม้กระทั่งเสียงของคนในบริษัท จนได้ไอเดียและ impact to customer คร่าวๆ ออกมาดังภาพ 2
ทีนี้จะเห็นว่า โอกาสใหม่ๆ มันอาจจะมีทั้งที่
- ไอเดีย C, D : ต่อยอดคุณค่าใหม่ในโดเมนเดิม เช่น การออกฟีเจอร์ใหม่, การเพิ่มบริการที่เกี่ยวข้อง, การพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือ
- ไอเดีย E : สร้างคุณค่าใหม่ ในโดเมนใหม่ เช่น การออกโพรดักต์ใหม่ให้กับลูกค้ากลุ่มเดิม หรือออกโพรดักต์ใหม่ให้กับลูกค้ากลุ่มใหม่
สมมติว่าเราทำการบ้านมาได้ประมาณนึงแล้วว่าไอเดียทั้ง C, D, และ E นั้นทำได้จริงหมดทั้งในแง่ viable (คุ้มที่จะทำ), feasible (ทำได้จริง), และ usable (ใช้ได้ง่าย) แต่ทรัพยากรของเราดันมีจำกัดนี่สิ ต้องเลือกไปต่อแค่อันเดียว จะทำยังไง เราจึงเลือกไอเดียที่เห็นแล้วว่าน่าจะสร้าง impact หรือคุณค่าให้ได้มากที่สุด นั่นก็คือไอเดีย E ที่เป็นการสร้างโดเมนใหม่ ว่าแล้วก็จัดสรรกำลังทีม ลงมือถางทาง ตั้งรกรากกัน จนออกมาเป็นภาพ 3
ความเป็นจริงไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด โพรดักต์จากไอเดีย E มีคนใช้จริง แต่ทุกอย่างยากกว่าที่คาดการณ์ไว้ (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา) ทีมเองก็ยังต้องใช้กำลังภายในอีกหลายกระบวนท่า เพื่อบรรลุคุณค่าที่ตั้งใจไว้ หรือได้ตามตัวชี้วัด (metric) ที่ตั้งไว้ หมายความว่าคุณค่าน่าจะไปได้ แต่ทรัพยากรจะต้องใช้มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน เกิดเหตุการณ์ตามภาพที่ 5 ก็คือระหว่างทางที่กำลังสร้างโดเมนใหม่ ทีมของโดเมนหลัก ก็ได้ไปเจอไอเดียใหม่ (F) ที่ อาจจะจากตัวลูกค้าเอย หรือจากทีมงานเอย ที่ถ้าทำแล้วน่าจะช่วยเพิ่มคุณค่าได้มากกว่าไอเดีย E ที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ เมื่อเทียบกับการใช้ทรัพยากรที่เท่ากัน ซึ่งทีมหลักก็ไม่มีแรงคนแล้ว เหลือแต่ squad ของคุณเท่านั้น ที่จะมาช่วยตะลุยสิ่งนี้ได้! (เท่ชะมัด)
ระหว่าง
- วิ่งไปลุยทางใหม่ เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง พอแค่นี้เถอะกับทางเดิม หรือ
- ไม่เด่นไม่ดัง จะไม่หันหลังกลับไป! ขอลุยทางเดิมเถอะ ลงแรงมาขนาดนี้แล้ว ความสำเร็จอยู่ที่ปลายอุโมงค์แสงรำไรนั่นแล้วยังไงล่ะ !
ถ้าเป็นคุณ คุณจะตัดสินใจยังไงดีครับ
รู้จักกับอคติต้นทุนจม (Sunk-Cost Fallacy)
เป็นปกติมากที่การตัดสินใจของเราหลายๆ ครั้ง เราจะเอา ต้นทุนที่เสียไปแล้วและเรียกคืนไม่ได้ เช่น เวลาที่รอคอย เงินที่หายไป หรือแรงที่ลงไป มาคำนวณเพื่อประกอบการตัดสินใจสิ่งที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต อาทิ
การพยายามกินบุฟเฟต์ให้มากที่สุดแม้จะอิ่มแล้ว เพราะอยากให้คุ้มเงิน (จริงๆ ควรจะหยุดกิน)
ถือกองทุน หลักทรัพย์ หรือคริปโตที่ดิ่งลงเหวเรื่อยๆ โดยหวังว่าจะขึ้นไปจนหลุดดอย เพราะขาดทุนเงินต้นไปแล้ว (ทั้งที่จริงควรมองความเป็นไปได้ในอนาคต ว่ามีปัจจัยใดที่จะพลิกกลับมาได้ไหม)
หรือเลือกทำกิจการตัวเองต่อไป แม้ขาดทุนตลอด เพราะลงเงินและลงแรงไปเยอะมากแล้ว (ทั้งที่จริงควรเลิกแล้วไปทำอย่างอื่นหรือเปล่า)
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นอคติต้นทุนจม ทั้งสิ้นครับ ที่จะทำให้เราตัดสินใจแบบไม่มีประสิทธิภาพ
เมื่อเราลองตัดเรื่องต้นทุนจมทิ้งไป สุดท้ายแล้วผมและหัวหน้าจึงตัดสินใจร่วมกันที่จะย้ายแรงของทีมมาเพื่อทำ Idea F ตามภาพที่ 6 ครับ
โพรดักต์ที่ไม่ได้ไปต่อควรทำยังไง เก็บไว้หรือทุบทิ้ง?
การย้ายแรงของทีมเพื่อไปสร้างสิ่งใหม่ ไม่ได้แปลว่าต้องทำลายเจ้าโพรดักต์โดเมน E หรือ Business Model ที่ 2 ที่เริ่มสร้างมาเสียทั้งหมด เรายังต้องตัดสินใจกันอีกนิดหน่อย ว่าควรเก็บไว้ หรือหยุดให้บริการไปเลย โดยที่ส่วนตัวผมเองประเมินจาก 2 สิ่ง นั่นก็คือ
- Potential: ความสามารถในการเติบโตในอนาคต ถ้ามีทรัพยากรมากพอ เราจะอยากทำมันไหม
- Required Maintaining Resource: การเปิดให้บริการของโพรดักต์โดเมนนั้น ต้องกินทรัพยากรแค่ไหน ทั้งในแง่ของ technical และ business support
เมื่อเอามาตีช่องก็จะได้ออกมาแบบด้านล่างครับ (ภาพที่ 7)
ในเมื่อเจ้าตัวโดเมน E นี้มันถูกปัดตกจากการลงแรงแล้ว เงื่อนไขในการเก็บมันจึงต้องเข้มข้นนิดนึงครับ ซึ่งโดยส่วนตัว ผมจะยังคงให้บริการก็ต่อเมื่อมันดูมีอนาคต ถ้าเรามีแรงพอกลับมาทำ และการยังเปิดให้บริการมันต่อก็ไม่ได้เปลืองทรัพยากรอะไรมากนัก และผู้ใช้งานยังได้รับคุณค่าแบบที่ควรจะได้รับอยู่ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องทุบทิ้งครับ
ส่วนถ้าตกช่องอื่น Discard! Discard! Discard! รัวๆ ได้เลย เหตุผลก็คือ
- พวก Potential ต่ำ จากประสบการณ์แล้วโอกาสคัมแบ็คค่อนข้างยากครับ อนาคตจะมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามาจนปัดพวกที่ตกท้ายตารางไปในที่สุด
- พวกต้องลงแรงรักษาไว้เยอะ เพราะเราไม่มีแรงให้ลงแล้วครับ ตัดออกเท่านั้น เพื่อให้ทีมของเราโฟกัสกับเป้าหมายที่กำลังไปอันใหม่
Product ล้มเหลว = Product Manager’s Failure?
ที่ NocNoc ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลาง Experimentation Culture (อ่านเพิ่มเติมเรื่องนี้ได้ ที่นี่ บล็อกพี่นัท CPO ของเราเองครับ) ก็ได้ค้นพบประโยคง่ายๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเองว่า
การได้รู้ว่าสิ่งไหนทำแล้วไม่สำเร็จ ก็เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง
ปัจจัยที่โพรดักต์ตัวหนึ่งจะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้มีแค่ความเก่งหรือความเจ๋งของ PM หรือของทีม แต่ยังมีปัจจัยภายนอกอีกมากมาย ทั้งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ เมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นดังหวังแล้ว หน้าที่ของเราในฐานะ PM ถ้าเรามั่นใจว่าเราเต็มที่แล้วจริงๆ (แล้วเจ้านายยังไม่ไล่ตะเพิดเรา 5555) ก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจครับ
รวบรวมความมั่นใจของทีม ของตัวเอง แล้วลุยกันต่อ
The NEXT challenges await us!
และเช่นเคย ใครอยากมาร่วมลงเรือ NocNoc ลำนี้ไปด้วยกัน จิ้ม https://career.nocnoc.com ดูตำแหน่งที่ถูกใจ แล้วมาเจอกันนะครับ ;)